สัปดาห์นี้เป็นที่รู้กันดีว่า
เป็นเทศกาลออกพรรษา
ซึ่งชาวพุทธยึดถือปฏิบัติกันมาตั้งแต่สมัยพุทธกาลนานแล้ว
สิ่งหนึ่งซึ่งจะมีต่อจากเทศกาลออกพรรษาก็คือ เทศกาลหาผ้ากฐินของพระสงฆ์
ความจริงแล้ว กฐินเป็นเรื่องของพระสงฆ์องค์เณรล้วน ๆ
ไม่เกี่ยวกับฆราวาสญาติโยมเลย กฐินแปลว่าไม้สะดึงที่ใช้ขึงเย็บผ้า
ที่ต้องใช้ไม้ก็เพราะว่า ผ้าของพระนั้นผืนใหญ่
ต้องใช้เครื่องช่วยจึงจะสำเร็จโดยเร็ว
ไม้สะดึงจึงมีความสำคัญถึงกับนำมาใช้เป็นชื่อของกฐิน
ย้อนไปในสมัยพุทธกาล เวลานั้นอุตสาหกรรมยังไม่เจริญ นายเจมส์
วัตร และนายบิล เกต ยังไม่เกิด เครื่องจักรไอน้ำและไมโครซอฟจึงยังไม่มี
ชาวบ้านต้องใช้กี่ในการทอผ้า
ซึ่งผ้าในสมัยพุทธกาลนั้นนับว่าเป็นของมีค่าหายาก
เรื่องราคาก็ไม่ต้องพูดถึง แค่มีนุ่งห่มก็ถือว่าบุญโขแล้ว
ใครใส่เสื้อผ้าดีก็นับเป็นผู้ดี
ไม่ต้องท้าวความไปถึงเรื่องเงินทองคล้องคอ
เสื้อผ้าจึงถือว่าเป็นอาภรณ์คือเครื่องประดับ
ในพระวินัยปิฎกมีกฎหมายคณะสงฆ์เรื่องผ้าอยู่มากมาย
กฐินก็เป็นเหตุหนึ่งซึ่งเนื่องมาแต่เรื่องของผ้า
เมื่อผ้าเป็นสินค้าหายากและราคาแพง
แถมคนอินเดียสมัยนั้นยังใช้ผ้านุ่งและห่มแบบเดียวกันทั้งหญิงและชาย
เหมือนชายพม่านุ่งโสร่งและผู้หญิงนุ่งผ้าซิ่นนั่นแหละ
ไม่มีการแยกเป็นกางเกงและกระโปรงตามเพศเหมือนสมัยนี้
ทีนี้ก็จะกระทบไปถึงเรื่องผ้า เมื่อผ้ามีราคาหายาก คนก็อยากได้
จึงไม่สนใจว่าจะเป็นผ้าสีอะไร ขอให้เป็นผ้าเป็นใช้ได้
การลักเล็กขโมยน้อยจึงเกิดขึ้น
ซึ่งมีสิกขาบทหลายข้อบัญญัติไว้เพื่อป้องกันอันตรายอันเกิดจากผ้า เช่น
เวลาอาบน้ำตามแม่น้ำต่าง ๆ นั้น ห้ามมิให้พระภิกษุหันหลังให้ตาฝั่ง
เพราะพระมีผ้าใช้เพียงแค่ 3 ผืน เวลาอาบน้ำก็ต้องแก้ผ้าไว้บนบก
ลงไปแต่ตัวเปล่า ๆ โดยไม่ต้องอายเทวดาหรือนางฟ้านางไหน
ถ้าพระหันหลังให้ตาฝั่ง
พอเหลียวหลังกลับมาผ้าก็อาจจะอันตรธานไปแล้วก็เป็นได้
มีหลายครั้งที่พระถูกปล้นผ้า
จึงทรงอนุญาตให้พระที่ถูกปล้นนั้นนุ่งห่มใบไม้แทนผ้าไปจนกว่าจะได้ผ้าใหม่มาทดแทน
กรณีนี้ยังทรงอนุญาตให้พระที่ถูกปล้นขอผ้าจากญาติโยมมานุ่งห่มได้
แต่ในคราวปรกตินั้นห้ามปรามไว้กวดขันนัก นี่เพราะว่าผ้ามีราคาแพง
เวลาอาบน้ำนั้นก็ห้ามมิให้ดำน้ำ เพราะขืนดำผลุบ ๆ โผล่ ๆ
พอโผล่ขึ้นมาผ้าก็จะอันตรธานไปไกลอีก คราวนี้ก็จะกลายเป็นชีเปลือยไป
อีกเรื่องก็คือ
เขตจีวรวิปวาส แปลว่า เขตอยู่ปราศจากไตรจีวร
ซึ่งปัจจุบันพระสงฆ์ไทยเกือบจะไม่รู้เรื่องแล้ว
ความจริงสิกขาบทเหล่านี้มีกำหนดไว้เพื่อปกป้องเรื่องผ้าเพียงอย่างเดียวเท่านั้น
ก็อย่างที่บอก ถึงจะอยู่ในวัด แต่ถ้าไม่รักษาผ้าแล้ว
เกิดหายขึ้นมาก็จะเดือดร้อน
จึงทรงมีพระบัญญัติห้ามมิให้พระภิกษุอยู่ห่างจากผ้าในระยะเท่าใด
ห่างจากนั้นไปก็ต้องนำผ้าติดตัวไปไม่ให้ห่าง ไม่งั้นก็เป็นอาบัติ
เรื่องที่พระภิกษุต้องทำพินทุ (แปลว่าจุด)
คือตำหนิบนผ้าจีวรแห่งใดแห่งหนึ่งนั้น ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง
ซึ่งทรงบัญญัติไว้ป้องกันไม่ให้มีการใช้ผ้าปนกัน เพราะผ้ามันผืนเท่า ๆ
กัน แถมยังสีเดียวกันอีกด้วย เมื่อมีเครื่องหมายของใครของมัน
ก็ไม่ต้องมั่ว ไม่ต้องถกเถียงกันว่าของใครผืนไหน
ซึ่งบางทีก็บานปลายถึงกับชกต่อยกันก็มี
ยิ่งภายหลังมีภิกษุณีเพิ่มเข้ามาอีก
เรื่องผ้าก็ต้องมากเรื่องเปลืองพระบัญญัติไปด้วย
กฐินก็เช่นเดียวกัน
ธรรมเนียมเดิมก่อนจะมีพระพุทธศาสนาขึ้นมาในโลกนี้นั้น
นักบวชชาวชมพูทวีป
นิยมใช้เวลาหน้าฝนสามเดือนในการพักจำพรรษาอยู่ในที่แห่งใดแห่งหนึ่ง
แต่ถึงเวลามีพระพุทธศาสนาขึ้นมาแล้ว
พระอริยสาวกได้รับคำสั่งจากพระบรมศาสดาให้
"จาริกไปเพื่อประโยชน์สุขแก่ชาวโลก"
โดยมิได้มีพระบัญชาว่า
"ให้หยุดในวันนั้นวันนี้"
ทีนี้พระอริยสาวกเหล่านั้นถึงจะบรรลุนิติภาวะแล้ว
แต่เพราะความซื่อสัตย์ซื่อตรง
เมื่อไม่มีพระบัญชาให้หยุดก็ต้องเดินต่อไป ไม่ว่าหน้าไหน
ร้อนถึงชาวบ้านต้องนำเรื่องไปฟ้องว่า
ไฉนพระสมณะศากยบุตรจึงไม่ยอมหยุดในหน้าฝน
คนทั่วไปรวมถึงนกหนูก็ยังทำรังเพื่อพักผ่อน
ความทราบถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ
"ให้พระสงฆ์หยุดจำพรรษาในที่แห่งใดแห่งหนึ่งตลอดสามเดือน"
ทีนี้ เมื่อออกพรรษาแล้ว ก่อนจะจาริกไปสู่ถิ่นอื่นอีก
ก็จะมีปัญหาว่าด้วยผ้า
จึงทรงโปรดให้พระสงฆ์ใช้เวลาหน้าฝนที่เหลืออีกหนึ่งเดือนนั้นหาผ้า
เหตุที่ทรงกำหนดไว้แต่เพียงหนึ่งเดือนก็เพราะจะป้องกันไม่ให้พระสงฆ์พะวงแต่เรื่องผ้า
แบบว่าหากฐินทั้งปีไม่มีที่สิ้นสุด
กฐินจึงเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับผู้ไม่มีผ้าหรือมีแต่ว่าเก่าคร่ำคร่าไม่น่าใช้แล้ว
วิธีการทำผ้ากฐินก็คือ
พระสงฆ์ทั้งวัดต้องระดมกำลังกันหาผ้ามาให้พร้อม
เตรียมเครื่องย้อมเครื่องเย็บให้ครบครัน
แล้วดำเนินการเย็บ-ย้อมให้เสร็จภายในวันเดียว
ถ้าเกินเวลาไปก็ถือว่าใช้ไม่ได้ กฐินเดาะ
พระสงฆ์วัดนั้นจะไม่ได้อานิสงส์กฐิน ซึ่งมีข้อหนึ่งว่า
"จาริกไปโดยไม่ต้องถือไตรจีวรไปครบ"
ข้อนี้เพราะบางทีออกพรรษาแล้วฝนยังตกอยู่
ถ้าพระถือจีวรไปแบบอีลุงตุงนัง ผ้าก็จะเปียก
จึงทรงอนุญาตให้ไม่ต้องเอาไตรจีวรไปครบ
เพราะสมัยนั้นคนเขาเปลือยท่อนบนอยู่เป็นปกติทั้งชายหญิงอยู่แล้ว
เมื่อกำหนดการทำกฐินบังคับว่า
"ต้องให้เสร็จภายใน 1 วัน" เช่นนี้
ก็มีปัญหาว่าด้วยการทำผ้า เพราะว่าผ้าผืนใหญ่ขนาดนั้น ถ้าใช้กำลังคน ๆ
เดียวก็ไม่เสร็จ สองคนก็ไม่ทัน สามคนก็ยังลำบาก
เพราะนอกจากวิธีการทำผ้าแล้ว เรื่องอาหารบิณฑบาตก็สำคัญ
เดี๋ยวก็จะอดฉันกันทั้งวัด จึงทรงบัญญัติให้ต้องมีพระภิกษุ 5 รูปขึ้นไป
นับเป็นองค์สงฆ์สามารถทำผ้ากฐินได้
นี่คือสาเหตุว่าทำไมต้องมีพระครบองค์สงฆ์จึงจะสามารถทำกฐิน
(ไม่ใช่รับกฐิน)
และที่บังคับให้ทำเพียงแค่ผืนเดียวก็เพราะต้องการให้เสร็จเร็ว ๆ
ภายในหนึ่งวัน ขืนทำกันคนละผืน ๆ ก็ไม่มีทางเสร็จ
เมื่อเสร็จแล้วก็ห้ามโมเมเอามาเป็นของตนโดยอภิสิทธิ์
แต่ต้องมอบให้เป็นของสงฆ์
และให้พระสงฆ์ประชุมกันลงคะแนนว่าจะมอบให้แก่ผู้ใดที่ไม่มีจีวรใช้
หรือมีแต่เก่ากว่าเพื่อน สาระสำคัญก็แค่นี้
เมื่อเรื่องกฐินเป็นกิจธุระของพระเท่านั้นดังว่ามาฉะนี้
ทีนี้ก็มีญาติโยมมาพบเข้า ก็อยากช่วยเหลือ เพราะเป็นห่วงพระจะอดเพลบ้าง
จึงนำเอาข้าวปลาอาหารมาเลี้ยง
และนานเข้าก็ถึงกับปวารณาขอถวายผ้ากฐินเอง โดยพระไม่ต้องตัด เย็บ ย้อม
แบบเดิมอีก ซึ่งก็ทรงมีพระบรมพุทธานุญาตให้พระสงฆ์รับได้
แต่ก็ไม่ได้ลดจำนวนพระสงฆ์ที่จะรับกฐินลงไป
ในปัจจุบัน มีโรงงานผลิตผ้าสำเร็จรูป สามารถซื้อหาได้ทั่วไป
และผ้าก็มิได้มีราคาค่างวดแบบในสมัยพุทธกาล
งานกฐินจึงไม่ใช่เรื่องสำคัญที่จะต้องนำมาโฆษณาหาผลประโยชน์อื่นแอบแฝง
โดยเฉพาะที่บอกว่า "กฐินเป็นกาลทาน
จะถวายได้เพียงปีละครั้ง และกำหนดเวลาถวายเพียง 1 เดือนเท่านั้น
ใครถวายไม่ทันก็ไม่ได้มหาบุญ
และในโลกนี้ถ้าใครได้ถวายกฐินซักครั้งหนึ่งในชีวิตก็จะได้บุญมาก
ตายไปจะไม่ต้องตกระกำลำบาก"
คำโฆษณาเช่นนี้ไม่มีในพระไตรปิฎก
แต่พระรุ่นหลังเอามาโกหกให้ชาวบ้านชาวเมืองเขาหลงกันไปทั่ว
ซึ่งความจริงแล้ว ผ้ากฐินน่ะไม่สำคัญอะไรหรอก
แต่บริวารกฐินซึ่งเป็นแบงค์แดงๆ หรือดอลล่าห์เขียวๆ
นั่นนะสิยั่วน้ำลายมากกว่า หรือใครจะปฏิเสธว่าไม่จริง
การหาผ้ากฐินในปัจจุบันจึงผิดไปจากรูปแบบเดิม
ยิ่งผ้ากฐินพระราชทานยิ่งไปกันใหญ่ วัดใดไปขอได้มาก็โฆษณาว่า
เป็นมหาบุญ ต้องการผู้มีบุญมากมาเป็นประธาน
ในการนี้ก็ต้องให้สมกับกฐินพระราชทาน
คือผู้เป็นประธานนั้นต้องลงขันมากหน่อย
นี่แหละคือความเหลวไหลของงานกฐิน
เป็นการทำลายพระธรรมวินัยอย่างไม่รู้สึกรู้สา ถ้าเราไม่เขียน
ญาติโยมก็จะโง่ และหลงบุญอันมิใช่บุญ
จึงขอบอกแก่พุทธศาสนิกชนให้ได้รับทราบว่า จริงอยู่
เราปฏิเสธเรื่องประเพณีและความจำเป็นในการหาเงินบำรุงวัดไปไม่ได้
แต่ก็ต้องมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้อย่างเพียงพอ
ไม่ใช่หลงคำโฆษณาของพระที่โลภมากอยากได้เงินทอง
ถึงกับต้องวิ่งเต้นหาผ้ากฐินพระราชทาน
เพื่อจะนำมาขายให้ได้ราคากว่ากฐินธรรมดา และเมื่อนั้นคำว่า
"กฐินเป็นกาลทาน มีอานิสงส์หาประมาณมิได้"
ก็จะหมดสิ้นไป พร้อมๆ
กับแสงสว่างทางปัญญาของชาวพุทธอันบริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง
ดังพรรณามาฉะนี้
|