จากกรณีที่กลุ่มเครือข่ายคนไทยส่งเสริมและเติมเต็มพุทธบริษัทสี่ ตัวแทนเครือข่ายผู้หญิงเพื่อความก้าวหน้า และขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย เข้ายื่นหนังสือกับ นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปค่านิยม ศิลปะ วัฒนธรรม จริยธรรม และการศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และนายไพบูลย์ นิติตะวัน กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อเรียกร้องเกี่ยวกับมติมหาเถรสมาคม (มส.) ห้ามบวชภิกษุณีในประเทศไทย เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. ที่ผ่านมา โดยทางเครือข่ายฯอ้างว่า เป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) 2557 ขณะที่สมาชิก สปช. บางคน ยังเห็นว่ามติ มส. ดังกล่าว ขัดต่อรัฐธรรมนูญเช่นกันนั้น
วันนี้ (16 ธ.ค.) นายสมชาย สุรชาตรี โฆษกสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) กล่าวว่า มติมส.ดังกล่าว ผ่านการพิจารณาจากพระเถระชั้นผู้ใหญ่ใน มส. และเห็นตรงกันว่า ภิกษุณีในพระพุทธศาสนาเถรวาทนั้นขาดสายมาอย่างยาวนาน ส่งผลให้ไม่มีภิกษุณีผู้ที่จะมาทำการอุปัชฌาย์ได้อย่างถูกต้องตามพระธรรมวินัย จึงยืนยันว่าภิกษุณีในสายเถรวาทนั้นขาดตอนไปแล้ว ขณะที่พระสงฆ์ไทยเพียงฝ่ายเดียวก็ไม่สามารถจะไปทำการบวชให้ได้ เพราะจะถือว่าเป็นการฝ่าฝืนพระธรรมวินัย
โฆษก พศ. กล่าวต่อไปว่า เรื่องดังกล่าว เป็นคนละประเด็นกับกับเรื่องสิทธิมนุษยชน เพราะคณะสงฆ์ไทยไม่ได้ห้ามบวชภิกษุณี หากจะไปบวชมาจากประเทศอื่น นิกายอื่น ก็สามารถทำได้ และยังสามารถมาสร้างสถานที่เผยแผ่หลักคำสอนในประเทศไทยได้ คณะสงฆ์ไทยไม่ห้าม แต่เรื่องภิกษุณีสายเถรวาท ที่ขาดสายไปแล้วนั้น เป็นเรื่องของพระธรรมวินัย จะนำเรื่องหลักสิทธิมนุษยชนมาเกี่ยวข้องกับหลักพระธรรมวินัยไม่ได้ และที่อ้างว่าขัดหลักรัฐธรรมนูญ ในเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในการนับถือศาสนา ขอชี้แจงว่า คณะสงฆ์ไม่ได้ห้ามในการนับถือศาสนา ส่วนเรื่องการที่จะต้องให้มีการแจ้งมายัง มส.ก่อน หากพระสงฆ์ต่างประเทศจะมาทำพิธีในประเทศไทยนั้น ถือว่าเป็นเรื่องปกติ ที่คณะสงฆ์หลายประเทศก็มีมาตรการแบบนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสื่อมเสียแก่ประเทศตัวเอง อย่างไรก็ตามหาก สปช. ติดต่อ พศ. ให้ชี้แจงเรื่องดังกล่าว ทาง พศ. ก็พร้อมที่จะนำประกาศของกรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ เรื่องห้ามพระเณรไม่ให้บวชหญิงเป็นบรรพชิต พ.ศ.2471 มติ มส. ครั้งที่ 31/2545 และมติ มส. เรื่องภิกษุณี เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. เข้าชี้แจง